Last updated: 27 ก.พ. 2566 |
“ผู้ประกอบการตาบอด” เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางหลายท่านเคยนิยามการทำธุรกิจของตัวเองในชั่วขณะเวลาหนึ่งไว้แบบนั้น เหตุที่เขากล่าวไว้เช่นนั้นเป็นเพราะเขาเหล่านั้นสงสัยมาตลอดว่าพวกเขาล้วนทำงานหนัก เร่งหากลยุทธ์ต่างๆ เพื่อสร้างยอดขาย ให้บริษัทมีรายได้เข้ามาอย่างมากเท่าที่สามารถจะทำได้ หรือเรียกได้ว่าขายของอย่างบ้าคลั่งเลือดตาแทบกระเด็น แต่คำถามต่อมาที่เกิดขึ้นในใจคือแล้วเงินที่หามาได้นั้นมันหล่นหายไปไหนบ้าง ทำไมบางวันยังได้ยินพนักงานที่ดูแลเรื่องเงินบอกว่า วันนี้เงินในมือมีเหลือไม่พอที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายของบริษัทเลยด้วยซ้ำ ซึ่งเรื่องเงินเรื่องทองนี่แหละที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายท่านปวดหัวกับการทำธุรกิจมากกว่าเรื่องกลยุทธ์ในการขายของเสียอีก
วันนี้เราจะขอนำเสนอทุกท่านถึงประโยชน์ของการจัดทำบัญชีและความหมายของงบการเงินมาให้ฟังกันแบบคร่าวๆ ก่อน เพื่อให้ทุกท่านได้เข้าใจและเล็งเห็นถึงประโยชน์จากการใช้ข้อมูลทางการเงินที่ถูกต้องมากขึ้น
หลักการทำธุรกิจนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ประกอบการคงอยากเห็นที่มาที่ไปของรายได้ รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ตนและบริษัทต้องจ่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนอยู่ในรายงานฉบับหนึ่ง หรือก็คืองบการเงินที่ผู้ประกอบการทุกคนเคยได้ยิน บางท่านอาจจะมีความรู้ความเข้าใจในการอ่านงบการเงิน แต่หลายท่านอาจจะยังไม่เข้าใจที่มาที่ไปและความหมายของตัวเลขที่แสดงอยู่ในงบการเงินอย่างแท้จริง ในวันนี้เราจะมาช่วยขยายความและอธิบายให้ทุกๆ ฝ่ายเข้าใจไปพร้อมๆ กัน
เมื่อมีคนถามว่าบัญชีในภาพปัจจุบันคืออะไร คงต้องบอกว่าบัญชีเป็นศาสตร์ เป็นอาชีพแขนงหนึ่งที่มีหน้าที่ในการจัดการกับข้อมูลทางการเงินที่มีจำนวนมากมายมหาศาลในการทำธุรกิจ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่สนับสนุนการทำงานในการดำเนินธุรกิจไปพร้อมๆ กับหน่วยงานอื่นๆ ในองค์กร หรือใครอาจจะมองเป็นเพื่อนที่คอยให้คำปรึกษาทางตัวเลขแก่หน่วยงานอื่นๆ หรือแก่ผู้ประกอบการก็ตาม
การจัดทำบัญชีในปัจจุบันมีหลากหลายมุมมอง ซึ่งแต่ละมุมมองมีวิธีการจัดทำ และมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันด้วย ยกตัวอย่างเช่น
1. บัญชีเพื่อการรายงานทางการเงิน รูปแบบนี้คืองบการเงินที่เราทุกคนรู้จักโดยทั่วไป ซึ่งใช้สำหรับการนำเสนอข้อมูลแก่สาธารณชน หน่วยงานราชการ ซึ่งการจัดทำจะต้องมีแบบแผนและเป็นไปตามหลักการ รวมถึงรูปแบบที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐานหรือข้อกฎหมายนั่นเอง ถ้าถามว่าทำไมต้องทำให้เป็นมาตรฐานหรือแบบแผนเดียวกัน ก็คงต้องให้ท่านนึกภาพถึงการเปรียบเทียบและการนำไปใช้งานในวงกว้างในระดับของประเทศ ซึ่งหากทุกคนทุกบริษัททำตามใจของใครของมัน การนำมาเปรียบเทียบกันหรือนำไปสรุปผลในวงกว้างคงเป็นไปได้ยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อ
2. บัญชีเพื่อการบริหาร ซึ่งรูปแบบนี้จะมีความหลากหลายและสามารถจัดทำได้ตามความต้องการของแต่ละกิจการ ไม่มีความถูกผิดที่ต้องใช้มาตรฐานมาเป็นกรอบบังคับ แต่หากทำผิด ข้อมูลที่นำไปใช้นั้น ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจที่ผิดไปด้วยเป็นแน่ บัญชีเพื่อการบริหารนั้น ชื่อตรงตัวกับประโยชน์ที่จะได้รับ คือเพื่อการบริหาร ยิ่งมีข้อมูลที่มีประโยชน์มาก ก็จะช่วยให้การตัดสินจะยิ่งแม่นยำและชัดเจนมากขึ้น (ย้ำว่าข้อมูลที่มีประโยชน์นะจ๊ะ เพราะปัจจุบันข้อมูลมีมากเหลือเกิน อะไรที่มากไปย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดี ดังนั้นนักบัญชีที่ดีจะต้องเป็นคนเลือกและจัดทำข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่นำไปใช้ประโยชน์ได้เหมาะสม) อย่างไรก็ตามเวลาที่ผู้ประกอบการจะใช้ข้อมูลเพื่อการบริหารสักอย่างหนึ่ง มี 2 ปัจจัยที่ต้องพิจารณาหลักๆ คือ ความถูกต้องและความรวดเร็วของข้อมูล เนื่องจากบางสถานการณ์ข้อมูลที่ได้รับมารวดเร็วแต่ไม่ถูกต้องแม่นยำ หรือบางข้อมูลมาช้า ซึ่งแม้จะมีความแม่นยำแต่ก็ไม่ทันต่อการตัดสินใจ ดังนั้นหากข้อมูลมาช้าหรือไม่ถูกต้องในทางใดทางหนึ่งการใช้ประโยชน์จากข้อมูลก็อาจจะไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง ท่านจึงต้องพิจารณาทั้ง 2 ปัจจัยให้เหมาะสมตามความต้องการ จะเห็นว่าบัญชีเพื่อการบริหารนั้นสำคัญไม่น้อยไปกว่าบัญชีรูปแบบอื่นๆ และต้องอาศัยทักษะความรู้ความเข้าใจในธุรกิจเป็นอย่างมาก ความท้าทายของนักบัญชีจึงอยู่ที่รูปแบบการจัดทำบัญชีนี้เป็นส่วนมาก
สรุปสั้นๆ คือหลักการของการจัดทำงบการเงินและรายงานทางบัญชีที่ดี คือการแสดงข้อมูลและการแสดงให้ผู้อ่านเห็นว่าบริษัทแห่งนี้ผ่านเรื่องราวอะไรมาบ้างในแต่ละปี ข้อมูลที่ถูกต้องจะสามารถนำไปใช้เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง รวมถึงเป็นเครื่องมือชี้ทางในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบกิจการ หากผู้ประกอบการขาดการเข้าถึงซึ่งข้อมูลทางการเงินที่ถูกต้อง เขาก็ไม่ต่างอะไรจากผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจแบบคนตาบอด
เขียนโดย : ทีมงาน Coast Redwoods
27 ก.พ. 2566
27 ก.พ. 2566